วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวัดแรงดันไฟตรง


การวัดแรงดันไฟตรง ตั้งสวิตซ์เลือกย่านวัดไปที่ DCV มัลติมิเตอร์รุ่น yx-360TR มีทั้งหมด 7 ย่านวัดเต็มสเกลคือย่าน 0.1v, 0.5v, 2.5v, 10v, 50v, 250v, และ 1,000v
ขั้นตอนการวัดค่ามีดังนี้


ย่านวัดต่างๆของมัลติมิเตอร์

1)    สายวัดสีแดงเสียบเข้าที่ขั้วต่อบวก (+) สายวัดสีดำเสียบเข้าที่ที่ขั้วต่อลบ (-com) ของมัลติมิเตอร์ การวัดค่าใช้สายทั้งสองเส้นไปวัดค่าแรงดัน
2)    ปรับสวิตซ์เลือกย่านไปย่านที่เหมาะสม หากไม่สามารถค่าแรงดันไฟตรง ให้ตั้งย่านวัดที่ย่านสูงสุดไว้ก่อนที่ 1,000v
3)    การวัดแรงดันไฟตรง ต้องนำมิเตอร์ไปต่อขนานกับวงจร และขณะวัดต้องคำนึงถึงขั้วของมัลติมิเตอร์ให้ตรงกับขั้วของแรงดันที่จะวัด โดยยึดหลักดังนี้ ใกล้บวกแหล่งจ่ายแรงดัน ต่อวัดด้วยขั้วบวกของมัลติมิเตอร์ ใกล้ลบแหล่งจ่ายแรงดัน ต่อวัดด้วยขั้วลบของมิเตอร์
4)    ก่อนต่อมัลติมิเตอร์วัดแรงดันไฟตรงค่าสูง ควรตัดไฟของวงจรที่จะวัดออกก่อน เมื่อนำมัลติมิเตอร์เข้าวงจรเรียบร้อบแล้ว จึงต่อไฟเข้าวงจรที่จะวัด
5)    อย่าจับสายวัดหรือมัลติมิเตอร์ขณะวัดแรงดันไฟตรงค่าสูง เมื่อวัดเสร็จเรียบร้อยควรตัดไฟที่ทำการวัดเสียก่อน จึงปลดสายวัดของมัลติมิเตอร์ออกจากวงจร


การต่อมัลติมิเตอร์วัดแรงดันไฟตรง


วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข้อควรระวังในการใช้มัลติมิเตอร์


มัลติมิเตอร์เป็นมิเตอร์ที่มีส่วนประกอบของอุปกรณ์หลายชนิด แต่ละชนิดมีขนาดเล็กและบอบบาง ยิ่งในส่วนเครื่องไหวประกอบร่วมกับเข็มชี้มิเตอร์ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก ตลอดจนการนำไปใช้งานก็ต้องระมัดระวังในเรื่องปริมาณไฟฟ้าในการวัด และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง สามารถกล่าวสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้
            1.ส่วนเคลื่อนไหวของมัลติมิเตอร์ ประกอบด้วยขดลวดเส้นเล็กมากๆและมีส่วนของเดือยและรองเดือยขนาดเล็กเช่นกัน มีความบอบบาง มีโอกาสชำรุดเสียหายได้ง่าย หากได้รับกระแสไหลผ่านมากเกินไป หรือหากได้รับการกระทบกระเทือนแรงๆที่เกิดจากการตกหล่น เกิดจากการถูกกระแทกแรงๆตลอดจนตั้งย่านปริมาณไฟฟ้าผิดพลาด
            2. การวัดปริมาณไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่ทราบค่า ครั้งแรกควรตั้งย่านวัดไว้สูงสุดไว้ก่อน เมื่อวัดค่าแล้วจึงค่อยๆลดย่านวัดต่ำลงมาให้ถูกต้องกับปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการวัดค่า และต่อขั้ววัด บวก + ลบ – ให้ถูกต้อง
            3.การตั้งย่านวัดปริมาณไฟฟ้าชนิดหนึ่ง แต่นำไปวัดไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่ง จะมีผลต่อการทำให้มัลติมิเตอร์ชำรุดเสียหายได้ เช่น ตั้งย่านวัดกระแส แต่นำไปวัดแรงดันเป็นต้น
            4.ห้ามวัดค่าความต้านทานด้วยย่านวัดโอห์มของมัลติมิเตอร์ ในวงจรที่มีกำลังไฟฟ้าจ่ายอยู่ เพราะจะทำให้ย่านวัดโอห์มชำรุดเสียหายได้ ต้องตัดไฟจากวงจรก่อนและปลดขาตัวต้านทานหรือขาอุปกรณ์ตัวที่ต้องการวัดออกจากวงจรเสียก่อน
            5.ขณะพักการใช้มัลติมิเตอร์ทุกครั้งควรปรับสวิตซ์เลือกย่านไฟฟ้าที่ย่าน 1000 VDC หรือ 1000 VAC เสมอ เพราะเป็นย่านวัดที่มีความต้านทานผ่ายในมัลติมิเตอร์สูงสด เป็นการป้องกันการผิดพลาดในการใช้งานครั้งต่อไป เมื่อลืมตั้งย่านวัดที่ต้องการ ในมัลติมิเตอร์บางรุ่นอาจมีตำแหน่ง off บนสวิตซ์เลือกย่านวัด ให้ปรับสวิตซ์เลือกย่านวัดไปที่ตำแหน่ง off เสมอ เพราะเป็นการตัดวงจรมัลติมิเตอร์ออกขากจากขั้ววัด
            6.ถ้าต้องการหยุดการใช้งานมัลติมิเตอร์เป็นเวลานานๆ หรืองดใช้มัลติมิเตอร์ ควรปลดแบตเตอรี่ที่ใส่ไว้ในมัลติมิเตอร์ออกจากมัลติมิเตอร์ให้หมด เพื่อป้องกันการเสื่อมของแบตเตอรี่และการเกิดสารเคมีไหลออกมาจากแบตเตอรี่ อาจกัดกร่อนอุปกรณ์ภายในมัลติมิเตอร์จนชำรุดเสียหายได้


ตำแหน่งแบตเตอรี่และ ฟิวส์ในมัลติมิเตอร์

            7.ในกรณีที่ตั้งย่านวัดผิดพลาด จนทำให้มัลติมิเตอร์วัดค่าประมาณไฟฟ้าอื่นๆไม่ขึ้น ให้ตรวจสอบฟิวส์ที่อยู่ภายในมัลติมิเตอร์ เป็นตัวป้องกันไฟเกินว่าขาดหรือไม่ หากฟิวส์ขาดให้ใส่ฟิวส์สำรองที่มีอยู่ใส่แทน และทดลองใช้มัลติมิเตอร์อีกครั้ง

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์


สเกลหน้าปัดของมัลติมิเตอร์ จะมีหลายสเกลแต่ละสเกลใช้แสดงค่าปริมาณไฟฟ้าแตกต่างกัน ถูกแยกสเกลออกเป็นหลายช่องหลายแถว แต่ละช่องแต่ละแถวใช้แสดงปริมาณไฟฟ้าแต่ละชนิดโดยเฉพาะ การใช้การอ่านค่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อการใช้งานที่ถูกต้อง




            จากรูป แสดงสเกลหน้าปัดสำหรับแสดงค่าปริมาณไฟฟ้าชนิดต่างๆของมัลติมิเตอร์ซันวารุ่น yx-360TR แต่ละสเกลใช้แสดงปริมาณไฟฟ้าแต่ละชนิด ถูกกำกับไว้ด้วยหมายเลข แต่ละส่วนอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้
            หมายเลข 1 คือสเกลใช้แสดงความต้านทาน (Ω) ใช้สำหรับอ่านค่าความต้านทานเมื่อตั้งย่านวัดความต้านทาน
           หมายเลข 2 คือสเกลใช้แสดงค่าแรงดันไฟฟ้าตรง(DCV) และกระแสไฟฟ้าตรง (DCA) ใช้สำหรับอ่านค่าแรงดันไฟฟ้าตรง เมื่อตั้งย่านวัดแรงดันไฟฟ้าตรงหรือย่าน DCA และใช้สำหรับอ่านค่ากระแสไฟตรง เมื่อตั้งย่านวัดแรงดันไฟฟ้าตรงหรือย่าน DCmA
          หมายเลข 3 คือสเกลใช้แสดงค่าแรงดันไฟฟ้าสลับ (ACV) ใช้สำหรับอ่านค่าแรงดันไฟฟ้าสลับ หมายเลข 4 คือสเกลใช้แสดงค่าอัตราขยายกระแสไฟฟ้าตรงของตัวทรานซิสเตอร์ ใช้สำหรับอ่านค่าอัตราขยายกระแสไฟตรงของทรานซิสเตอร์เมื่อตั้งย่านวัดโอห์ม (Ω)
        หมายเลข 5 คือสเกลแสดงกระแสรั่วซึมหรือกระแสรั่วไหล (Leakage Current) ของตัวทรานซิสเตอร์  ใช้สำหรับอ่านค่ากระแสรั่วไหลระหว่างขาคอลเลกเตอร์ (C) และขาอิมิตเตอร์ (E) ของตัวทรานซิสเตอร์เมื่อขาเบส (B) เปิดลอย ขณะตั้งย่านวัดโอห์ม (Ω) ที่ x 1 (150 mA), x 10 (15 mA) และยังใช้แสดงค่ากระแสภาระ (Load Current) ในการวัดไดโอด (LI) ใช้สำหรับอ่านกระแสภาระที่วัดไดโอดด้วยย่านวัดโอห์ม เป็นทั้งการวัดกระแสไฟไบอัสตรงและกระแสไบอัสกลับ
           หมายเลข 6 คือสเกลใช้แสดงค่าแรงดันภาระ (Load Voltage) ในการวัดไดโอด (LV) ใช้สำหรับอ่านแรงดันภาระที่วัดไดโอดด้วยย่านวัดโอห์ม เป็นทั้งการวัดกระแสไบอัสตรงและไบอัสสลับ เช่นเดียวกับการวัด LI
        หมายเลข 7 คือสเกลใช้แสดงค่าความดังของสัญญาณเสียงบอกค่าการวัดออกมาเป็นเดซิเบล (dB) ใช้สำหรับอ่านค่าของสัญญาณสียง เมื่อตั้งย่านวัดที่แรงดันไฟฟ้าสลับ หรือย่าน ACV
        หมายเลข 8 คือกระจกเงา เพื่อให้การอ่านค่าบนสเกลที่แสดงด้วยเข็มชี้ของมิเตอร์ถูกต้องที่สุด การอ่านค่าที่ถูกต้องคือตำแหน่งที่เข็มชี้ของมิเตอร์จริงกับตำแหน่งเข็มชี้ของมิเตอร์ในกระจกเงาซ้อนกันพอดี

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การใช้เครื่องมือวัดเบื้องต้น


การพัฒนาประเทศชาติคือการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมคือ การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆขึ้นมา ด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นด้านหนึ่งที่มีการพัฒนามีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกผลิตขึ้นมาใช้งานในรูปแบบที่ทันสมัย และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
            อุปกรณ์ทางเครื่องมือวัดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยี เพราะในการที่จะคิดค้นหรือประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและทดลองเพื่อให้ได้อุปกรณ์และเครื่องมือเหล่านั้นมีคุณภาพมีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยความถูกต้องแม่นยำ การตรวจสอบและทดลองต้องใช้เครื่องมือวัดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีส่วนรวม เพื่อดูผลค่าที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไร มีความถูกต้องมากน้อยเพียงไร สิ่งต่างๆเหล่านี้เครื่องมือวัดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงทั้งสิ้น
            การศึกษาในวิชาช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเกี่ยวข้องกับปริมาณไฟฟ้าต่างๆเช่น แรงดัน กระแส กำลังไฟฟ้า และความต้านทาน เป็นต้น ปริมาณไฟฟ้าเหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบค่าได้ด้วยการสัมผัส การได้ยินด้วยหู การได้ดูด้วยตา การจะตรวจสอบตรวจวัดปริมาณไฟฟ้าออกมา เครื่องมือวัดไฟฟ้าเบื้องต้นที่ควรทราบ ได้แก่ มัลติมิเตอร์ (Multimeter) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือวัดไฟฟ้าที่จำเป็นต่อช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ และช่างที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปริมาณไฟฟ้าต่างๆ

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ไฟฟ้ากระแส


ไฟฟ้ากระแสเป็นไฟฟ้าที่สามารถกำเนิดเกิดขึ้นมาได้แหล่งกำเนิดหลายชนิด เช่นปฏิกิริยาเคมี จากความร้อน จากแสงสว่าง จากแรงกดดันและจากสนามแม่เหล็ก เป็นต้น เป็นไฟฟ้าที่ต้องการมีการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนไปมาตลอดเวลา และการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนไปตามอะตอมของวัตถุธาตุต่างๆนี้เรียกว่าการเกิดกระแสไหล อิเล็กตรอนเมื่อเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆทำให้อิเล็กตรอนเกิดการเปลี่ยนแปลงพลังงานในตัวมัน พลังงานที่อิเล็กตรอนเปลี่ยนไปถูกแสดงออกมาในรูปพลังงานอื่นๆเช่น แสงสว่าง แสง ความร้อน และการเคลื่อนที่ เป็นต้น เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง ไฟฟ้าแยกออกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
1.ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current)
2.ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current)

ไฟฟ้ากระแสตรง
            ไฟฟ้ากระแสตรงหรือเรียกสั้นๆว่า ไฟดีซี (DC) เป็นไฟฟ้าที่ถูกกำเนิดขึ้นมาจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่มีขั้วจ่ายศักย์ไฟฟ้าออกมาแน่นอนตายตัว เมื่อนำไปใช้งานจะเกิดกระแสไหลในทิศทางเดียวตลอดเวลา ระดับแรงดันที่จ่ายอกกมามีระดับแรงดันคงที่ตลอดการใช้งาน 


แหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรง


ไฟฟ้ากระแสสลับ
            ไฟฟ้ากระแสสลับหรือเรียกสั้นๆว่า ไฟเอซี (AC) เป็นไฟฟ้าที่ถูกกำเนิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่มีขั้วจ่ายศักย์ไฟฟ้าออกมาได้ทั้งศักย์บวก และศักย์ลบ สลับไปสลับมาตลอดเวลาเมื่อนำไปใช้งานกระเกิดกระแสไหลในทิศทางที่กลับไปกลับมาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน ระดับแรงดันที่จ่ายออกมาจะมีระดับแรงดันที่ไม่คงที่ บางเวลามีระดับแรงดันสูง บางเวลามีระดับแรงดันต่ำ ทำให้กระแสที่ไหลมีค่าไม่คงที่ไปด้วย


แหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ